ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับดนตรี

ดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ปรุงแต่งขึ้น และได้เป็นเพื่อนทางจิตใจของมนุษย์มาช้านานแล้วคำถามที่ว่าศิลปะแขนงนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด ไม่มีผู้ใดสามารถให้คำตอบได้ แต่ว่าอาศัยหลักฐานและข้ออิงทางมานุษยวิทยา(anthropology) แล้วก็จะกล่าวได้ว่า ดนตรีเริ่มมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์นานนักหนาแล้ว มีหลักฐานว่าอารยธรรมของดนตรีในซีกโลกตะวันออกนั้น เกิดขึ้นมาก่อนดนตรีในซีกโลกตะวันตก ประมาณ 2,000 ปี สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดนตรีขึ้นครั้งแรกคือ "ความหวาดกลัว" ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าการเกิดกลางวันหรือกลางคืน การผลัดเปลี่ยนของฤดูกาล ฟ้าแลบฟ้าร้อง ฝนตก น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างความประหวั่นพรันพรึงและความกังวลใจให้แก่มนุษย์ในยุคนั้นเป็นอันมาก พวกเขามีความเข้าใจว่า ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้มีทั้งพระเจ้าที่ดีและร้ายอยู่ในตัว ไม่เพียงแต่เท่านี้มนุษย์ยังมีความเชื่อว่าความงอกงามของพืชพันธุ์ธัญชาติ การพ้นภยันตรายจากสัตว์ร้าย การฟื้นหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นความกรุณาปรานีที่ได้รับจากพระเจ้าทั้งสิ้น ฉะนั้น การที่จะเอาใจและตอบแทนบุญคุณพระเจ้าต่างๆก็จะทำได้โดยการบวงสรวง การเต้น การร้อง และการแสดงสิ่งที่เขาปรารถนาจะให้เกิดขึ้น

สิ่งที่ทำให้เกิดดนตรีขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ความสบายอกสบายใจ" นักปราชญ์ได้สันนิษฐานว่าผู้หนึ่งผู้ใดที่ออกไปล่าสัตว์ ขณะทีเรารอดักสัตว์อย่างสบายอารมณ์อยู่นั้น เขขาอาจจะเอาคันธนูหรือหน้าไม้มาลองดีดสายดู เมื่อเขาสามารถดีดให้เกิดเสียงสูงต่ำบ้าง เขาก็เกิดความพอใจ และคันธนูก็ได้เป็นต้นกำเนิดของพิณขึ้นในเวลาต่อมา ส่วนปี่และขลุ่ยเกิดขึ้นมาอย่างไรนั้น นักปราชญ์ก็ได้สันนิษฐานว่าพวกเด็กเลี้ยงแกะ เด็กเลี้ยงวัว เมื่อนำฝูงสัตว์ของตนออกไปเลี้ยงตามท้องทุ่งก็อาจเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายแลกงอยเหงา การที่จะแก้อาการเหล่านี้ เขาอาจจะไปตัดปล้องไม้หรือเก็บเอากระดูกสัตว์มาถือจับเล่นก่อน เผอิญปล้องไม้หรือกระดูกสัตว์นั้นเกิดมีรู และเผอิญอีกเช่นกันที่เขาเอามันมาลองเป่าดู ครั้นเกิดเป็นเสียงเขาก็คงจะทึ่งจะกับมันมาก และพยายามปรับปรุงสิ่งเหล่านั้นจนกลายเป็นเพื่อนแก้เหงาได้ สำหรับกลองนั้น นักปราชญ์ให้ความเห็นว่า มนุษย์ในยุคนั้นคงลองเอาขนสัตว์ขึงบนหินที่กลวงหรือไม่ก็บนต้นไม้กลวง เมื่อเอาลองมือและไม้ตีบนหนังที่ขึงตึงนั้นก็จะเกิดเสียงดังขึ้น และนี่คือต้นกำเนิดกลองใบแรกของโลก ท่านทั้งหลายคงจะเคยเห็นรูปร่างและเคยฟังเสียงของเครื่องดนตรีบางชนิดของวงดุริยางค์ในปัจจุบันมาแล้ว เป็นต้นว่า พิณฮาร์พ ขลุ่ยฟลูท กลองทิมปานี เครื่องดนตรีเหล่านี้ได้มีวิวัฒนาการเป็นขั้นๆ ต่อเนื่องกันมานานนักหนาแล้วจากสิ่งที่คนในยุค ก่อนประวัติศาสตร์ได้ก่อกำเนิดมันขึ้นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
เพลงศาสนาหรือดนตรีทางศาสนานี้เองที่มีส่วนสำคัญ ทำให้ศาสนารุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคริสต์ศาสนา ประจักษ์พยานที่ทำให้เรานึกถึงเรื่องนี้ได้อย่างถ่องแท้คือ วิวัฒนาการของดนตรีคริสต์ศาสนาตั้งแต่มัธยมสมัยของยุโรปมาจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลานานร่วม 7 ศตวรรษ อนึ่งคำว่า "ดนตรีศาสนา" นี้ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่ว่า church music หรือ sacred music คำในภาษาอังกฤษทั้งสองนี้ได้ใช้กันมาอย่างกว้างขวางทัดเทียมกัน
ดังได้กล่าวแล้วว่า Sacred music คือ ดนตรีศาสนา ที่ตรงกันข้ามกับคำนี้คือ secular music คำว่า secular music ก็คือดนตรีที่ให้ความรื่นเริงทางโลกหรือให้ความบันเทิงใจกับปุถุชน ถ้าจะพูดให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็จะพูดว่า secred music คือ "ดนตรีวัด" และ secular music คือ "ดนตรีบ้าน" ทั้งนี้เพราะ secred music มักขับร้องแลบรรเลงกันในวัด ส่วน secular music ส่วนมากจะปฏิบัติและฟังกันตามบ้าน ซึ่งนับตั้งแต่พระราชวังลงไปจนถึงทับของคนยากคนจน
ในขณะที่ดนตรีศาสนากำลังเจริญเฟื่องฟูอยู่นั้น ดนตรีที่ให้ความรุ่งเรืองเฟื่องฟูอยู่นั้น ดนตรีที่ให้ความรื่นเริงบันเทิงใจก็ได้ก้าวรุดหน้าไปไม่น้อย ผู้คนได้นำเอาดนตรีมาใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้ประกอบการงานที่ใช้อยู่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพลงประเภทนี้เรียกว่า "เพลงขับร้องระหว่างการทำงาน" (work song) ซึ่งได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเก็บฝักข้าวโพด เพลงปั่นฝ้าย เพลงคนตัดต้นไม้ เป็นต้น
เพลงที่ให้ความรื่นเริงบันเทิงใจแก่คนทั่ว ๆ ไปนอกจากเพลงขับร้องระหว่างการทำงานแล้ว ก็ยังมีเพลงประกอบการเล่น เพลงประกอบระบำ เพลงรัก เพลงกล่อมเด็ก เพลงเทศกาลและเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2550


เครื่องดนตรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เป็นเครื่องบรรเลง
ซึ่งมีเสียงดัง ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน หรือเกิดอารมณ์รัก โศก และรื่นเริงได้ตามทำนองเพลง
เครื่องดนตรีไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมซึ่งบรรพบุรุษของเราได้สร้างสมไว้ และ
เป็นเครื่องหมาย อย่างหนึ่งที่แสดงลักษณะเฉพาะของชาติไทย เช่นเดียวกับภาษา และ ศิลปวัฒนธรรม
ด้านอื่น ๆ สมควรที่เราจะภาคภูมิใจและช่วยกันทะนุบำรุง ส่งเสริมและรักษาไว้ให้ดำรงคงอยู่สืบไป
ในเบื้องต้นนี้ เราควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีไทย อันอาจจะก่อให้เกิดความรักและ ความสนใจ
ดนตรีไทยขึ้นมาได้ ต่อไปนี้จะขอแนะนำให้รู้จักส่วนหนึ่งของ "ดนตรีไทย" คือ "เครื่องดนตรีไทย"
เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด

เครื่องดีดคือ เครื่องดนตรีไทยที่บรรเลงหรือเล่นด้วยการใช้นิ้วมือ หรือไม้ดีด ดีดสาย ให้สั่นสะเทือนจึงเกิดเสียงขึ้น เครื่องดนตรีไทยประเภทนี้มีหลายชนิด แต่ที่นิยมเล่น กันแพร่หลาย ในปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่ชนิด คือ กระจับ พิณและจะเข้

1. กระจับปี่
2. พิณน้ำเต้า
3. จะเข้
๑. กระจับปี่

กระจับปี่ เป็นพิณชนิดหนึ่ง มี ๔ สาย กระพุ้งพิณมีลักษณะ เป็นกล่องแบน รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูมุมมนด้านหน้าทำเป็นช่อง ให้เสียงกังวาน ทวนทำเป็นก้านเรียวยาวและกลมกลึงปลายแบน และงอนโค้งไปด้านหลัง ตรงปลายทวนมีลิ่มสลักเป็นลูกบิดไม้ สำหรับขึ้นสาย ๔ ลูก สายส่วนมากทำด้วยสายเอ็น หรือลวดทองเหลือง ตลอดแนวทวนด้านหน้าทำเป็น "สะพาน"หรือ นม ปักทำด้วยไม้ เขาสัตว์หรือกระดูกสัตว์ สำหรับหมุนสายมี ๑๑ นมกระจับปี่พัฒนามาจากเครื่องดนตรีประเภทหนึ่งของอินเดีย มีต้นกำเนิดจากการดีดสายธนูตามหลักฐานพบว่า กระจับปี่มีมาตั้งแต่ สมัยสุโขทัย

๒. พิณน้ำเต้า

พิณน้ำเต้าสันนิษฐานว่า พิณมีกำเนิดในประเทศ ทางตะวันออก พิณโบราณเรียนพิณน้ำเต้า ซึ่งมีลักษณะเป็น พิณสายเดี่ยว สันนิษฐานว่าชาวอินเดียนำมาแพร่หลาย ในดินแดนสุวรรณภูมิ การที่เรียกว่าพิณน้ำเต้า เพราะใช้ เปลือกผลน้ำเต้ามาทำ คันพิณที่เรียกว่า ทวน ทำด้วยไม้เหลา ให้ปลายข้างหนึ่ง เรียวงอนโค้งขึ้นสำหรับผูกสาย ที่โคนทวน เจาะรูแล้วเอาไม้มาเหลาทำลูกบิด สำหรับบิดให้สายตึงหรือหย่อน เพื่อให้เสียงสูงต่ำ สายพิณมีสายเดียวเดิมทำด้วยเส้นหวาย ต่อมาใช้เส้นไหม และใช้ลวดทองเหลืองในปัจจุบัน

๓. จะเข้
จะเข้เป็นเครื่องดนตรีที่วางดีดตามแนวนอน ทำด้วยไม้ท่อนขุดเป็นโพรงอยู่ภายใน นิยมใช้ไม้แก่นขนุน เพราะให้เสียงกังวาลดี ด้านล่างเป็นพื้นไม้ ซึ่งมักใช้ไม้ฉำฉา เจาะรูไว้ให้เสียงออกดีขึ้น มีขาอยู่ตอนหัว ๔ ขา ตอนท้าย ๑ ขา มีสาย ๓ สาย คือ สายเอก(เสียงสูง) สายกลาง(เสียงทุ้ม) ทั้งสองสายนี้ทำด้วยเอ็นหรือไหมฟั่นเป็นเกลียว สายที่สามเรียก สายลวด(เสียงต่ำ) ทำด้วยลวดทองเหลือง ทั้งสามสายนี้ขึงจากหลักตอนหัวผ่าน โต๊ะ (กล่องทองเหลืองกลวง) ไปพาดกับ "หย่อง" แล้วสอดลงไปพันกันด้านลูกบิด(ปักทำด้วยไม้หรืองา) สายละลูก โต๊ะนี้ทำหน้าที่ขยายเสียงของจะเข้ให้คมชัดขึ้น ระหว่างราง ด้านบนกับสายจะเข้ จะมีชิ้นไม้เล็ก ๆ ทำเป็นสันหนาเรียกว่า "นม" ๑๑ นม วางเรียงไปตามแนวยาว เพื่อรองรับการกด จากนิ้วมือขณะบรรเลง นมเหล่านี้มีขนาดสูงต่ำลดหลั่นกันไป ทำให้เกิดเสียงสูง-ต่ำ เวลาดีดจะใช้ไม้ดีดที่ทำด้วยงาหรือเขาสัตว์ กลึงเป็นท่อนกลม ปลายเรียวแหลมมน ดีดปัดสายไปมา ไม้ดีดนี้จะพันติดกับนิ้วชี้มือขวา ส่วนมือซ้ายใช้กดนิ้วบนสายถัดจากนม ไปทางซ้ายเล็กน้อย เพื่อให้เกิดเสียงสูงต่ำตามที่ต้องการ
เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสี
เป็นเครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีเข้ากับสายในดนตรีไทยเรียกว่า ซอ ซึ่งมีอยู่ ๓ ชนิด ด้วยกัน คือ
1. ซอด้วง
2. ซอสามสาย
3. ซออู้

1.ซอด้วง
ซอด้วง เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย ให้เสียงสูงแหลม การที่ได้ชื่อนี้เพราะส่วนที่เป็นเครื่องอุ้มเสียง มีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ด้วง มีส่วนประกอบ ดังนี้ - กระบอก เป็นส่วนที่อุ้มเสียงให้เกิดกังวาน รูปร่างเหมือนกระบอกไม้ไผ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งบางทีทำด้วยงาช้าง ไม้ที่ใช้ทำต่างชนิดกันจะให้คุณภาพเสียงต่างกัน เช่น เสียงนุ่ม เสียงกลม เสียงแหลม เป็นต้น ด้านหน้าของกระบอกมีวัสดุบาง ๆ ขึงปิด นิยมใช้หนังงูเหลือม นอกนั้นอาจเป็นหนังลูกวัว หนังแพะ หรือใช้กระดาษว่าวปิดซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นก็ได้ - คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้าง ลักษณะกลมยาว สอดปักที่กระบอกตั้งตรงขึ้นไป แบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงบนตั้งแต่ใต้ลูกปิดขึ้นไปจนถึงปลายคัน รูปร่างคล้ายโขนเรือ เรียกว่า "โขน" ปลายโอนโค้งงอนไปทางด้านเปิดของกระบอก ช่วงล่วงนับตั้งแต่ลูกบิดลงไปเรียกว่า "ทวนล่าง" - ลูกบิด มีอยู่สองลูก เสียบอยู่ที่ช่วงล่างของโขน ปลายลูกบิดเจาะรูไว้สำหรับร้อยสายซอ เพื่อขึงให้ตึงตามที่ต้องการ ลูกบิดลูกบน สำหรับสายเสียงต่ำ เรียกว่า ลูกบิดสายทุ้ม ลูกบิดลูกล่าง สำหรับสายที่มีเสียงสูง เรียกว่า ลูกบิดสายเอก - รัดอก เป็นบ่วงเชือกสำหรับรั้งสายซอ นิยมใช้ขนาดเดียวกับสายเอก ใช้ผูกรั้งสายซอทั้งสองเข้ากับทวนล่าง - หย่อง เป็นไม้ชิ้นเล็กใช้หมุนสายซอให้พ้นขอบกระบอก และเป็นตัวรับความสั่นสะเทือนจากสายซอไปสู่หน้าซอ - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง รูปโค้ง ด้ามมือจับมีหมุดสำหรับให้เส้นหางม้าคล้อง อีกด้านหนึ่งเจาะรูไว้ร้อยเส้นหางม้า ซึ่งมีประมาณ ๒๕๐ เส้น สอดเส้นหางม้าให้อยู่ภายในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม สำหรับสี การเทียบเสียง เทียบเสียงให้ตรงกับเสียงขลุ่ยเพียงออ ทั้งสายเอกและสายทุ้ม โดยใช้สายเอกเป็นหลัก

2.ซอสามสาย
ซอสามสาย เป็นซอชนิดหนึ่งของไทย มีมาแต่โบราณ มีเสียงไพเราะ นุ่มนวล รูปร่างวิจิตรสวยงามกว่าซอชนิดอื่น ถือเป็นเครื่องดนตรีชั้นสูง ใช้ในราชสำนัก มีส่วนประกอบ ดังนี้ - กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดตามด้านขวาง ด้านหน้าต่อติดกับกรอบไม้เนื้อแข็ง เดิมนิยมใช้ไม้สักเรียกว่า "ขนงไม้สัก" มีรูปร่างคล้ายกรอบหน้านาง ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะขึงปิดทับขอบขนงไม้สักและขอบกะลาให้ตึงพอดี - คันซอ แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ทวนบน ทวนกลาง และทวนล่าง ทวนบน คือ ส่วนที่นับจากรอบต่อเหนือรัดอกขึ้นไป ทวนกลาง คือ ส่วนต่อจากทวนบนลงมาถึงกะโหลก ทวนล่างหรือแข้งไก่ คือ ส่วนที่ต่อจากกะโหลก ลงไปรวมทั้งเข็มที่ทำด้วยโลหะ ซึ่งอยู่ปลายล่างสุด - ลูกบิด มีสามลูก ลูกล่างสำหรับสายเอก ลูกบนสำหรับสายกลาง สองลูกนี้อยู่ทางขวา ทางซ้ายมีลูกเดียว สำหรับสายทุ้ม หรือสายสาม - รัดอก มักใช้สายไหมฟั่นเกลียวแบบสายซอ พันรอบทวนกลาง ใช้รัดสายทั้งสาม ให้แนบเข้ากับทวนกลาง เพื่อให้เสียงของสายเปล่าได้ระดับและมีความกังวาน - หย่อง ทำด้วยไม้หรืองา เหลาเป็นรูปคันธนูให้ได้ขนาดพอรับสายซอทั้งสามสาย บนหย่องบากร่องไว้ สามตำแหน่ง เพื่อรองรับสายซอ - ถ่วงหน้า ทำด้วยแก้วหรือโลหะ ขึ้นรูปเป็นตลับกลมเล็ก ๆ ข้างบนประดับพลอยสีต่าง ๆ หรือถม หรือลงยา ภายในบรรจุสีผึ้งผสมตะกั่ว เพื่อให้ได้น้ำหนัก ใช้ชันปิดหน้า ใช้ปรับเสียงให้สายเอกเข้ากับสายทุ้ม - หนวดพราหมณ์ ใช้สายไหมฟั่นเกลียวอย่างสายซอ ผูกเป็นสายบ่วง ร้อยเข้าไปในรูที่ทวนล่าง เพื่อรั้งปมปลายสายซอทั้งสาม - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งและเหนียว กลึงให้ได้รูป ขึงด้วยขนหางม้าสีขาวประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ เส้น

3.ซออู้
ซออู้ เป็นซอที่มีเสียงทุ้มกังวาน ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายซอด้วง มีส่วนประกอบ ดังนี้ - กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ตัดส่วนที่กว้างใกล้กับขั้ว ให้พูทั้งสามอยู่ด้านบน ใช้หนังลูกวัวหรือหนังแพะ ขึงเป็นหน้าตรงที่ตัด - คันซอ ทำด้วยไม้หรืองาช้างกลึง แบ่งเป็นสองส่วน คือ ทวนบน นับตั้งแต่ลูกบิด ไปถึงปลายคัน ทวนล่างนับตั้งแต่ลูกบิดลงมาที่ตัวคันมีลวดหรือลูกแก้วคั่นเป็นระยะ ปลายทวนล่างสอดทะลุ กะโหลกลงไป เพื่อคล้องสายซอทั้งสองเส้น -ลูกบิด มีสองลูก เสียบอยู่ที่ทวนบน ใช้ขึงสายซอ ซึ่งทำให้ด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียว หรือทำด้วยเอ็นผูกคล้องปลายทวนล่างสุด ลูกบนสำหรับสายทุ้ม ลูกล่างสำหรับสายเอก - รัดอก เป็นบ่วงเชือกใช้ลูกล่างสำหรับสายเอกรั้งสายซอ เพื่อให้ได้คู่เสียงสายเปล่าชัดเจน - หมอน เป็นวัสดุที่วางหมุนระหว่างหน้าซอกับสายซอเพื่อให้ได้เสียงกับวาน บางทีเรียกว่า หย่อง - คันชัก ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงให้ได้รูป ขึงเส้นหางม้า ประมาณ ๒๕๐ เส้น เส้นหางม้านี้จะสอดเข้าระหว่าง สายเอกกับสายทุ้ม การเทียบเสียง สายเอกมีระดับเสียงตรงกับสายทุ้มของซอด้วง สายทุ้มมีเสียงต่ำกว่าสายเอก ๕ เสียง

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550


เครื่องตีที่ทำด้วยไม้


๑. กรับพวง
กรับพวง ทำด้วยไม้หรือโลหะ ลักษณะเป็นแผ่นบาง หลายแผ่นร้อยเข้าด้วยกัน ใช้ไม้หนาสองชิ้นประกับไว้
วิธีตี ใช้มือหนึ่งถือกรับ แล้วตีกรับลงไปบนอีกมือหนึ่งที่รองรับ ทำให้เกิดเสียงกระทบจากแผ่นไม้ หรือแผ่นโลหะดังกล่าว ใช้ตีในการบรรเลงมโหรีโบราณ เล่นเพลงเรือ และโขนละคร


๒. กรับเสภา
กรับเสภา ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีสันมน
วิธีตี การตีใช้ขยับมือที่ละคู่ การขับเสภาใช้กรับสองคู่ ถือมือละคู่ ผู้ขับเสภาจะขยับกรับ สองคู่นี้ตามท่วงทำนองที่เรียกเป็นไม้ต่าง ๆ เช่น ไม้กรอ ไม้หนึ่ง ไม้รบ หรือไม้สี่


๓. ระนาดเอก
ระนาดเอก ที่ให้เสียงนุ่มนวล นิยมทำด้วยไม้ไผ่บง ถ้าต้องการ ให้ได้เสียงเกรียวกราว นิยมทำด้วยไม้แก่น ลูกระนาดมี ๒๑ ลูก ลูกที่ ๒๑ หรือลูกยอด จะมีขนาดสั้นที่สุด ลูกระนาด จะร้อยไว้ด้วยเชือกติดกันเป็นผืนแขวนไว้บนราง ซึ่งทำด้วย ไม้เนื้อแข็งรูปร่างคล้ายเรือ ด้ามหัวและท้ายโค้งขึ้นเพื่อให้อุ้มเสียง มีแผ่นไม้ปิดหัวและท้ายรางเรียกว่า "โขน" ฐานรูปสี่เหลี่ยมเรียกว่า "ปี่พาทย์ไม้แข็ง" ไม้ตีอีกชนิดหนึ่งทำด้วยวัสดุที่นุ่มกว่า ใช้ผ้าพัน แล้วถักด้ายสลับ เวลาตีจะให้เสียงนุ่มนวล เมื่อผสมเข้าวงเรียกว่า "ปีพาทย์ไม้นวม"
วิธีตี เมื่อตีตามจังหวะของลูกระนาดแล้วจะเกิดเสียงกังวาล ลดหลั่นกันไปตามลูกระนาด ระนาดที่ให้เสียงแกร่งกร้าว อันเป็นระนาดดั้งเดิมเรียกว่า ระนาดเอก


๔. ระนาดทุ้ม
ระนาดทุ้ม เลียนแบบระนาดเอก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลูกระนาดมีจำนวน ๑๗-๑๘ ลูก ตัวลูกมีขนาดกว้างและยาวกว่าของระนาดเอก ตัวรางก็แตกต่าง จากระนาดเอก คือเป็นรูปคล้ายหีบไม้แต่เว้ากลาง มีโขนปิดหัวท้าย มีเท้าอยู่สี่มุมราง ไม้ตีตอนปลายใช้ผ้าพันพอกให้โต และนุ่ม เวลาตีจะได้เสียงทุ้ม
วิธีตี ตีตามจังหวะของลูกระนาดใช้บรรเลงในวงปีพาทย์ทั่วไป มีวิธีการบรรเลง แตกต่างไปจากระนาดเอก คือไม่ได้ยึดการบรรเลงคู่ ๘ เป็นหลัก


เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ
๑. ฆ้อง. . . . . . ๒. ฆ้องมโหรี. . . . . . ๓. ฆ้องมอญ . . . . . . ๔. ฆ้องระเบ็ง . . . . . . ๕. ฆ้องวงใหญ่๖. ฆ้องวงเล็ก . . . . . . ๗. ฆ้องหุ่ย. . . . . . ๘. ฆ้องโหม่ง. . . . . . ๙. ฉาบ. . . . . . ๑o. ฉิ่ง


๑. ฆ้อง
ฆ้อง ตัวฆ้องทำด้วยโลหะแผ่นรูปวงกลมตรงกลางทำเป็นปุ่มนูน เพื่อใช้รองรับการตีให้เกิดเสียงเรียกว่า ปุ่มฆ้อง ต่อจากปุ่มเป็นฐานแผ่ออกไป แล้วงองุ้มลงมาโดยรอบเรียกว่า "ฉัตร" ส่วนที่เป็นพื้นราบรอบปุ่มเรียกว่า "หลังฉัตร" หรือ " ชานฉัตร" ส่วนที่งอเป็นขอบเรียกว่า "ใบฉัตร" ที่ใบฉัตรนี้จะมีรูเจาะสำหรับร้อยเชือกหรือหนังเพื่อแขวนฆ้อง ถ้าแขวนตีทางตั้งจะเจาะสองรู ถ้าแขวนตีทางนอนจะเจาะสี่รู
การบรรเลง ฆ้องใช้ในการบรรเลงได้สองลักษณะคือ ใช้ตีกำกับจังหวะ และใช้ตีดำเนินทำนอง ฆ้องที่ใช้ตีกำกับจังหวะได้แก่ ฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฆ้องเหม่ง ฆ้องระเบ็ง และฆ้องคู่
ฆ้องที่ใช้ตีดำเนินทำนอง ได้แก่ ฆ้องราง ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมโหรี ฆ้องมอญ ฆ้องกะแตและฆ้องหุ่ย หรือฆ้องชัย ฆ้องกะแต ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ลูกฆ้องมีขนาดเล็ก จำนวน ๑๑ ลูก


๒. ฆ้องมโหรี
ฆ้องมโหรี เป็นฆ้องวงที่ใช้บรรเลงในวงมโหรีโดยเฉพาะ มีอยู่สองขนาด คือฆ้องวงใหญ่มโหรีและฆ้องวงเล็กมโหรี ฆ้องวงใหญ่มโหรีเดิมมีลูกฆ้อง ๑๗ ลูก ต่อมานิยมใช้ ๑๘ ลูก


๓. ฆ้องมอญ
ฆ้องมอญ เป็นฆ้องวงที่ตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบเหมือนฆ้องไทย มีลูกฆ้อง ๑๕ ลูก ใช้บรรเลงใน วงปีพาทย์มอญ ตัวรางประดิษฐ์ตกแต่งงดงาม


๔. ฆ้องระเบ็ง
ฆ้องระเบ็ง ใช้ตีประกอบการและแสดงระเบ็ง ชุดหนึ่งมีสามลูก มีขนาดและให้เสียงสูง-ต่ำ ต่างกัน มีชื่ออีกอย่างหนึ่งตามลักษณะว่า "ฆ้องราว" ฆ้องราง ใช้ตีดำเนินทำนอง ชุดหนึ่งมี ๗-๘ ลูก เสียงลูกที่ ๑ กับลูกที่ ๘ เป็นเสียงเดียวกัน แต่ต่างระดับเสียง ปัจจุบันไม่มีการใช้ในวงดนตรีไทย


๕. ฆ้องวงใหญ่
ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงใหญ่ มีลูกฆ้อง ๑๖ ลูก ลูกเสียงต่ำสุดเรียกว่า ลูกทวน ลูกเสียงสูงสุดเรียกว่า ลูกยอด ไม้ที่ใช้ตีมีสองอัน ผู้ตีถึงไม้ตีมือละอัน


๖. ฆ้องวงเล็ก
ฆ้องวงเล็ก มีลูกฆ้อง ๑๘ ลูก สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ใช้บรรเลงร่วมในวงปีพาทย์ มีหน้าที่เก็บ สอด แทรก ฯลฯ


๗. ฆ้องหุ่ย
ฆ้องหุ่ย ใช้ตีกำกับจังหวะ เป็นฆ้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในวงดนตรีไทย มีอีกชื่อว่า ฆ้องชัย อาจเป็นเพราะสมัยโบราณ ใช้ฆ้องชนิดนี้ตีเป็นสัญญาณในกองทัพ ปัจจุบันใช้ตีใน งานพิธี งานมงคลต่าง ๆ


๘. ฆ้องโหม่ง
ฆ้องโหม่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ มีขนาดใหญ่ รองลงมาจากฆ้องหุ่ย ได้ชื่อนี้ตามเสียงที่เกิดจากการตี


๙. ฉาบ
ฉาบ เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ รูปร่างคล้ายฉิ่ง แต่ มีขนาดใหญ่กว่าและหล่อบางกว่า มีสองขนาด ขนาดใหญ่กว่าเรียกว่า ฉาบใหญ่ ขนาดเล็กกว่า เรียกว่า ฉาบเล็ก การตีจะตีแบบประกบ และตีแบบเปิดให้เสียงต่างกัน


๑o. ฉิ่ง
ฉิ่ง เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะ ทำด้วยโลหะ หล่อหนา รูปร่างกลม เว้ากลาง ปากผาย คล้ายฝาขนมครกไม่มีจุก สำรับหนึ่งมีสองฝาเจาะรูตรงกลางที่เว้า สำหรับร้อยเชือกโยงฝาทั้งสอง เพื่อสะดวกในการถือตี ฉิ่งมีสองขนาด ขนาดใหญ่ใช้ประกอบวงปีพาทย์ ขนาดเล็กใช้กับวงเครื่องสายและมโหรี

เครื่องตีที่ทำด้วยหนัง
กลอง เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี สำหรับใช้บอกสัญญาณ บอกจังหวะ และใช้ประกอบเครื่องดนตรีอื่น ๆ ตัวกลองเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้ ข้างในเป็นโพรง หน้าขึงด้วยหนังมีทั้งหน้าเดียวและสองหน้า การขึ้นหนังมีทั้งตรึงด้วยหมุด และโยงเร่งด้วยเส้นหนัง หวายหรือลวด
การตีกลอง อาจใช้ตีด้วยฝ่ามือ และตีด้วยไม้สำหรับตี
๑. กลองแขก. . . . . . ๒. กลองชนะ. . . . . . ๓. กลองชาตรี . . . . . . ๔. กลองต๊อก. . . . . . ๕. กลองตะโพน . . . . . . ๖. กลองทัด ๗. กลองมลายู. . . . . . ๘. กลองโมงครุ่ม. . . . . . ๙. กลองยาว. . . . . . ๑o. กลองสองหน้า . . . . . . ๑๑. ตะโพน. . . ๑๒. ตะโพนมอญ
๑. กลองแขก


๑. กลองแขก
กลองแขก มีรูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าด้านหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้ารุ่ย" หน้าด้านหนึ่งเล็กเรียกว่า "หน้าต่าน" หนังหน้ากลอง ทำด้วยหนังลูกวัว หนังแพะ ใช้เส้นหวายฝ่าชีกเป็นสายโยงเร่งให้ตึงด้วยรัดอก สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย"
การตี การตีใช้ฝ่ามือทั้งสอง ตีทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กลองชะวา"

๒. กลองชนะ
กลองชนะ รูปร่างเหมือนกลองแขก แต่สั้นกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็ก ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ หรือหวาย ทางด้านหน้าใหญ่ เดิมกลองชนะน่าจะใช้ในกองทัพ หรือในการสงคราม ต่อมาใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนพยุหยาตรา และใช้ประโคม พระบรมศพ พระศพ และศพ ตามเกียรติยศของงาน จำนวนที่ใช้บรรเลง มีตั้งแต่ ๑ คู่ ขึ้นไป


๓. กลองชาตรี
กลองชาตรี มีรูปร่างลักษณะและการตีเช่นเดียวกับกลองทัด แต่ขนาดเล็กกว่ากลองทัดประมาณครึ่งหนึ่ง ขึ้นหนังสองหน้า ใช้บรรเลงร่วมในวงปีพาทย์ในการแสดงละครชาตรีที่เรียกว่า "ปีพาทย์ชาตรี" ใช้เล่นคู่กับโทนชาตรี


๔. กลองต๊อก
กลองต๊อก เป็นกลองจีนชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็ก หุ่นกลองหนา ขึ้นหนังสองหน้า หน้าทั้งสองมีขนาดเท่ากัน ตีหน้าเดียวโดยใช้ไม้ขนาดเล็ก


๕. กลองตะโพน
กลองตะโพน ใช้ตะโพนสองลูก เสียงสูงต่ำต่างกัน ถอดเท้าออก แล้วนำมาตั้งเอาหน้าเท่งขึ้นตีแบบกลองทัด ใช้ไม้นวมที่ใช้ตีระนาดเป็นไม้ตี


๖. กลองทัด
กลองทัด มีรูปทรงกระบอก กลางป่องออกเล็กน้อย ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุดที่เรียกว่า "แส้" ซึ่งทำด้วยไม้ งาช้าง กระดูกสัตว์ หรือโลหะ หน้ากลองด้านหนึ่งติดข้าวตะโพน แล้วตีอีกด้านหนึ่ง ใช้ไม้ตีสองอัน สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ตัวผู้อยู่ทางขวา และตัวเมียอยู่ทางซ้ายของผู้ตี กลองทัดน่าจะเป็นกลองของไทยมาแต่โบราณ
ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงปีพาทย์มาจนถึงปัจจุบัน


๗. กลองมลายู
กลองมลายู มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองแขก แต่สั้นและอ้วนกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็กขึ้นหนังสองหน้า เร่งให้ตึงด้วยหนังรูดให้แน่น สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่อยู่ทางขวาไปตีด้วยไม้งอ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ สำรับหนึ่งมีสีลูก ต่อมาลดเหลือสองลูก ใช้บรรเลงคู่ อย่างกลองแขกลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ใช้บรรเลงในวงบัวลอยในงานศพ
และใช้บรรเลงในวงปีพาทย์นางหงส์


๘. กลองโมงครุ่ม
กลองโมงครุ่ม มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองทัด แต่ใหญ่กว่า ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุด ตีหน้าเดียว โดยใช้ไม้ตี ใช้ตีในการเล่นสมัยโบราณที่เรียกว่า "โมงครุ่ม" หรือ "โหม่งครุ่ม" ซึ่งมักตีฆ้องโหม่งประกอบด้วย


๙. กลองยาว
กลองยาว หุ่นกลองทำด้วยไม้ ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายเรียวแล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพงมีหลายขนาด ขึ้นหนังหน้าเดียว ตัวกลางนิยมตบแต่งให้สวยงามด้วยผ้าสี หรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยมาปกด้วยกลอง มีสายสะพายสำหรับคล้องสะพายบ่า ใช้ตีด้วยฝ่ามือ แต่การเล่นโลดโผน อาจใช้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายตีก็มี กลองยาวได้แบบอย่างมาจากพม่า นิยมเล่นในงานพิธีขบวนแห่ กลองชนิดนี้เรียกชื่อตามเสียงที่ตีได้อีกชื่อหนึ่งว่า "กลองเถิดเทิง"


๑o. กลองสองหน้า
กลองสองหน้า ลักษณะคล้ายเปิงมาง แต่ใหญ่กว่า ตีด้วยมือขวา ใช้ใบเดียวตีกำกับจังหวะในวงปีพาทย์ที่บรรเลงในการขับเสภา


๑๑. ตะโพน
ตะโพน เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลอง ตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนังสองหน้า ตรงกลางป่องและสอบไปทางหน้าทั้งสอง หน้าหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้าเทิ่ง" หรือ "หน้าเท่ง" ปกติอยู่ด้านขวามือ อีกหน้าหนึ่งเล็ก เรียกว่า "หน้ามัด" ใช้สายหนังเรียกว่า "หนังเรียด" โยงเร่งเสียงระหว่างหน้าทั้งสอง ตรงรอบ ขอบหนังขึ้นหน้าทั้งสองข้าง ถักด้วยหนังตีเกลียวเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "ไส้ละมาน" สำหรับใช้ร้อยหนังเรียด โยงไปโดยรอบจนหุ้มไม้หุ่นไว้หมด ตอนกลางหุ่นใช้หนังเรียดพันโดยรอบเรียกว่า "รัดอก" หัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้าที่ทำด้วยไม้ ใช้ฝ่ามือซ้าย-ขวา ตี ทั้สองหน้า
ตะโพนใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงปีพาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ ผู้ที่นับถือพระประคนธรรพ ว่าเป็นครูใหญ่ทางดนตรี ได้ถือเอาตะโพนเป็นเครื่องแทนพระประคนธรรพในพิธีไหว้ครู และถือว่าตะโพนเป็นเครื่องควบคุมจังหวะที่สำคัญที่สุด

วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550



๑๒. ตะโพนมอญ
ตะโพนมอญ คล้ายตะโพนไทย แต่ใหญ่กว่า และตรงกลางหุ่นป่องน้อยกว่า มีเสียงดังกังวาลลึกกว่าตะโพนไทย หน้าใหญ่เรียกว่า "เมิกโนด" หน้าเล็กเรียกว่า "เมิกโด้ด" เป็นภาษามอญ ตะโพนมอญใช้บรรเลงผสมในวงปีพาทย์มอญ มีหน้าที่บรรเลงหน้าทับ กำกับจังหวะต่าง ๆ







เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องเป่า
เครื่องเป่า เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงจากลมเป่า อุปกรณ์ดังเดิมได้จากพืช ได้แก่หลอดไม้ต่าง ๆ และจากสัตว์ ได้แก่ เขาสัตว์ต่างๆ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการด้วยการเจาะรูและทำลิ้น เพื่อให้เกิดระดับเสียงได้มาก เครื่องดนตรีเหล่านี้ ได้แก่ ขลุ่ยชนิดต่าง ๆ ปี่ ชนิดต่าง ๆ และแคน เป็นต้น
๑. ขลุ่ย
ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า มักทำจากไม้รวก ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และงาช้าง แต่ที่ทำจากไม้รวกจะให้เสียงนุ่มนวล ไพเราะกว่า ขลุ่ยมี ๕ ชนิด คือ ขลุ่ยกรวด ขลุ่ยนก ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลีบ และขลุ่ยอู้ ขลุ่ยมีส่วนประกอบดังนี้
- เลาขลุ่ย คือ ตัวขลุ่ย มีขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของขลุ่ย มักนิยมประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนตัวขลุ่ย เช่น ลายดอกพิกุล ลายหิน และลายลูกระนาด เป็นต้น - ดาก คือ ไม้อุดปากขลุ่ย นิยมใช้ในไม้สักทอง เหลากลมให้คับแน่นกับร่องภายในของปากขลุ่ย ฝานให้เป็นช่องว่าง ลาดเอียงตลอดชิ้นดาก ให้เป่าลมผ่านไปได้
- รูเป่า เป็นรูสำหรับเป่าลมเข้าไป- รูปากนกแก้ว เป็นรูที่เจาะร่องรับลม จากปลายดากภายในขลุ่ย อยู่ด้านเดียวกับรูเป่า อยู่สุดปลายดากพอดี เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปากนกแก้วนี้ทำให้เกิดเสียง เทียบได้กับลิ้นของขลุ่ย - รูเยื่อ เป็นรูสำหรับบิดวัสดุที่ทำให้เสียงสั่นพริ้ว มักใช้เยื่อไม้ไผ่ หรือเยื่อหัวหอมปิด อยู่ด้านขวามือ- รูค้ำ หรือรูนิ้วค้ำ เป็นรูสำหรับให้นิ้วหัวแม่มือปิด เพื่อบังคับเสียง และประคองเลาขลุ่ยขณะเป่า อยู่ด้านล่างเลาขลุ่ย ต่อจากรูปากนกแก้วไปทางปลายเลาขลุ่ย- รูบังคับเสียง เป็นรูที่เจาะเรียงอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ย มีอยู่ ๗ รู ด้วยกัน- รูร้อยเชือก มี ๔ รู หรือ ๒ รูก็ได้ อยู่ทางส่วนปลายของเลาขลุ่ย โดยการเจาะทะลุบน-ล่าง และ ซ้าย-ขวา ให้เยื้องกันในแต่ละคู่ เสียงขลุ่ยเกิดจากเป่าลม และใช้นิ้วมือปิดเปิดรูบังคับเสียง

๒. ขลุ่ยกรวด
ขลุ่ยกรวด
มีขนาดเล็กกว่า ขลุ่ยเพียงออ ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า ระดับเสียงของขลุ่ยเพียงอออยู่ ๑ เสียง


๓. ขลุ่ยนก
ขลุ่ยนก เป็นขลุ่ยพิเศษ ทำขึ้นเพื่อ เสียงสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนก ใช้บรรเลง ประกอบในวงดนตรี เพื่อให้เกิดจินตนาการ ในการฟังเพลงได้ดียิ่งขึ้น บางครั้งยังใช้ ลิ้นปี่มาประกอบกับ ตัวขลุ่ยเพื่อเลียนเสียงไก่ ขลุ่ยพิเศษเหล่านี้นิยมใช้บรรเลง เพลงตับนก และตับภุมรินทร์


๔. ขลุ่ยหลีบ
ขลุ่ยหลีบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก มีเสียงสูงแหลมเล็ก ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า เสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออขึ้นมา ๓ เสียง ใช้เป่าคู่กับขลุ่ยเพียงออ หรือขลุ่ยกรวด มีอยู่สองชนิด คือ ขลุ่ยหลีบเพียงออ และขลุ่ยหลีบกรวด


๕. ขลุ่ยอู้
ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ ระดับเสียงต่ำสุด ต่ำกว่าระดับเสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออ ลงไปอีก ๒ เสียง ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์


๖. ปี่
ปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ปกติ เลาปี่ ทำด้วยไม้แก่น ต่อมามีผู้คิดทำด้วยงา โดยกลึงให้เป็นรูปบานหัว และบานท้าย ช่วงกลางป่อง ภายในกลวง ทางหัวใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางท้ายปากรูใหญ่ ใช้งา ชัน หรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมตอนหัว และตอนท้าย เรียกว่า "ทวน" ทางหัวเรียกว่า "ทวนบน" ทางท้ายเรียกว่า "ทวนล่าง" ช่วงที่ป่องกลาง เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียง เรียงลงมาตามข้างเลาปี่ จำนวน ๖ รู ที่รูเป่าตอนทวนบนใส่สิ้นสำหรับเป่าเรียกว่า ลิ้นปี่ ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อกลมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "กำพวด" ทำด้วยโลหะ มีลักษณะเรียว วิธีผูกเชือกให้ลิ้นใบตาลติดกับกำพวดเรียกว่า "ผูกตะกรุดเบ็ด"


๗. ปี่ไฉน
ปี่ไฉน เป็นปี่สองท่อน ถอดออกจากกันได้ ท่อนบนเรียงยาว ปลายผายออกเล็กน้อยเรียกว่า "เลาปี่" ท่อนล่างปลายบานเรียกว่า "ลำโพง" ทำด้วยไม้หรืองา ปี่ชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจาก เครื่องดนตรีของอินเดีย ซึ่งเป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยไม้ ไทยใช้ปี่ชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันใช้ในขบวนแห่ คู่กับปี่ชวา จ่าปีใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา


การประสมวง
การประสมวงดนตรีไทยพอสรุปได้เป็นแบบใหญ่ ดังนี้
วงปี่พาทย์
วงปี่พาทย์ คำว่า "ปี่พาทย์" หมายถึงการประสมวงที่มีปี่ และเครื่องเคาะ (ตี) ร่วมด้วย สมัยสุโขทัยได้เริ่มมี "วงปี่พาทย์เครื่องห้า" ขึ้นมาก่อน โดยใช้เครื่องดนตรี 5 ชิ้น คือ ปี่ ตะโพน ฆ้อง กลอง ฉิ่ง ต่อมาได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเจริญถึงขีดสุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีการเพิ่มระนาดเข้าไปในภายหลัง วงปี่พาทย์ในปัจจุบันแบ่งออกได้ 7 แบบ ตามการจัดกลุ่มเครื่องดนตรีดังนี้
ปี่พาทย์ชาตรี - ปี่นอก, ฆ้องคู่, โทนชาตรี, กลองชาตรี, ฉิ่ง, กรับ
ปี่พาทย์เครื่องห้า - ปี่ใน, ฆ้องวงใหญ่, ระนาด, ตะโพน, กลองทัด, ฉิ่ง
ปี่พาทย์เครื่องคู่ - ปีใน, ปี่นอก, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องวงเล็ก, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม,
ตะโพน, กลองทัด, ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง
ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ - ปีใน, ปี่นอก, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องวงเล็ก, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม,
ระนาดเหล็ก, ระนาดทุ้มเหล็ก,
ตะโพน, กลองทัด, ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง
ปี่พาทย์นางหงส์ - ปี่ชวา, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องวงเล็ก, ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม,
กลองมลายู, ฉิ่ง
ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ - ขลุ่ยเพียงออ, ขลุ่ยอู้, ฆ้องวงใหญ่, ฆ้องหุ่ย, ระนาดเอก,
ระนาดทุ้ม, ระนาดทุ้มเหล็ก, ซออู้, ตะโพน, กลองตะโพน,
กลองแขก, ฉิ่ง (กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้คิดขึ้น)
ปี่พาทย์มอญ - ปี่มอญ, ฆ้องมอญ, ระนาด, เปิงมางคอก, ตะโพนมอญ, โหม่งมอญ,
ฉิ่ง ฉาบ (จัดเครื่องดนตรีตามแต่ว่าจะเป็นชุดเครื่องเล็ก, เครื่องใหญ่
หรือเครื่องคู่)
วงมโหรีวงมโหรี


ในสมัยอยุธยาวงมโหรีเกิดขึ้นมาจากการดัดแปลงวงขับไม้ในอดีต โดยนำพิณมาร่วมบรรเลงดัวย ซึ่งเดิมมีเครื่องดนตรีเพียง 2 ชิ้น แล้วเปลี่ยนคนขับลำนำมาเป็นคนร้อง และตีกรับพวง เปลี่ยนจากบัณเฑาะว์เป็นโทน พร้อมกับเพิ่มรำมะนา และขลุ่ยไปประสมร่วม

คนเรารู้จักแต่งเพลง และชอบฟังเพลงมานานแล้ว แม้แต่คนป่าเถื่อนก็ยังรู้จักทำเสียงต่าง ๆ ที่ตน คิดว่าไพเราะ บางทีก็ใช้แต่เสียงของตนเองทำเพลงร้อง บางทีก็นำเอาสิ่งที่มีอยู่รอบตัวมาทำให้เกิดเสียง สูงต่ำเป็นจังหวะหรือเป็นทำนอง เช่น เอาไม้สองอันมาเคาะกัน เอาใบไม้มาพับริมแล้วเป่า เป็นต้น เมื่อคนเจริญมากขึ้นมี ความสังเกตและเรียนรู้ เรื่องเสียงต่าง ๆ มากขึ้น ก็รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือที่ทำให้เกิดเสียงต่าง ๆ และรู้จักนำเสียงมา เรียบเรียงเป็นทำนองโดยพิสดารยิ่งขึ้น

คนแต่ละชาติ แต่ละเผ่า มีความนิยมทางดนตรีแตกต่างกันไป เครื่องดนตรีแตกต่างกัน แม้ว่าลักษณะบางอย่าง จะคล้ายคลึงกัน เช่น หลายชาติจะมีเครื่องตี เช่น กลอง แต่กลองก็มีหลายอย่าง กลองไทย กลองแขก กลองฝรั่งแตกต่างกันอยู่ บ้างในเครื่องดนตรีประเภทกลอง ก็ยังมีกลองชนิดต่าง ๆ อีก เช่น กลองทัด ตะโพน เป็นต้น นอกจากเครื่องดนตรีของแต่ละชาติจะแตก ต่างกันแล้ว ทำนองเพลง จังหวะ และระดับเสียงสูงต่ำก็มีลักษณะแตกต่างกันไปประเพณีนิยมในการเล่น และการฟังดนตรีก็แตก ต่างกัน

ไทยเรามีดนตรีมาแต่โบราณ ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เวลาทำบุญที่มีพระสงฆ์สวดมนต์เย็น ก่อน จะเริ่มงานก็มีปี่พาทย์โหมโรง และตีกลองดังตุ่ม ๆ ต้อม ๆ บอกให้รู้ว่างานเริ่มขึ้นแล้ว การบรรเลงดนตรีจะมีตลอด งานนั้นเวลามีการเทศน์ มหาชาติที่วัด ก็มีการบรรเลงเพลงประจำกัณฑ์เทศน์แต่ละกัณฑ์ในงานศพ มีการบรรเลงเพลงเป็นระยะ เรามีเพลงซึ่งจัดไว้สำหรับงานแต่ละอย่างแต่ละเวลา เช่น ก่อนพระสงฆ์สวดมนต์เย็น ในเวลาทำบุญใช้เพลงโหมโรงเย็น เมื่อพระสงฆ์มาครบแล้ว ปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงช้า ครั้นพระสงฆ์สวดมนต์จบ ปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงกราวใน และเพลงเชิด เช่น นี้เป็นต้น

เครื่องดนตรีของไทยเรา มีเครื่องสำหรับ ดีด สี ตี เป่าครบครัน เครื่องดีด ได้แก่ กระจับปี จะเข้ ซึ่งทำให้ เกิดเสียงโดยใช้ไม้ดีด ดีดกับสายเสียงของเครื่อง เครื่องสี ซึ่งมีสายและต้องใช้เส้นหางม้าหลาย ๆ เส้น สีไปบนสาย เครื่องสี ได้แก่ ซอชนิดต่าง ๆ คือ ซอสามสาย ซออู้ ซอด้วง เครื่องตี ได้แก่ ระนาด กลอง ฆ้อง โทน รำมะนา และตะโพน เครื่องตี นั้น ใช้ไม้ตีหรือตีด้วยมือ เครื่องตีบางอย่าง เช่น กรับ และ ฉาบ ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนที่เหมือนกัน ก็ใช้สองส่วน นี้ตีกันเอง นอกจากนี้ก็มี เครื่องป่า ซึ่งต้องใช้ลมปากเป่าให้เกิดเสียง ได้แก่ ปี และ ขลุ่ย


ประโยชน์ของดนตรีต่อสังคมมนุษย์

1. ด้านการศึกษา นำเสียงดนตรีมาใช้ประกอบในการสอนแบบสร้างสรรค์ทางศิลปะผลปรากฏว่าเสียงดนตรีสามารถส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เสริมสร้างความคิด จินตนาการ ช่วยกระตุ้นให้มีการแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างประสาทหู กล้ามเนื้อมือ ให้สอดคล้องกับการใช้ความคิด ทำให้หายเหนื่อย และผ่อนคลายความตึงเครียด

หลักการดังกล่าวนี้มีใช้มาตั้งแต่สมัยกรีก ในยุคเฮเลนิสติค(Hellinistic Period 440-330 B.C) ชนชาติกรีกได้พัฒนาหลักการของ อีธอส (Doctrine of ethos) ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องของพลังแห่งสัจธรรมของดนตรี โดยกล่าวไว้ว่าพลังของดนตรีมีผลเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกถึงความชื่นชอบหรือความขัดแย้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ดนตรีเกี่ยวข้องกับความดีและความชั่วร้าย ในหนังสือ Poetics นั้น อริสโตเติล (Aristotle) ได้อธิบายว่าดนตรีมีอำนาจเหนือจิตใจมนุษย์ เขากล่าวว่าดนตรีเลียนแบบอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ ฉะนั้นเมื่อมนุษย์ได้ยินดนตรีซึ่งเลียนแบบอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ก็จะเกิดมีความรู้สึกคล้อยตามไป ถ้าได้ยินดนตรีที่กระตุ้นอารมณ์ที่ทำให้จิตใจต่ำบ่อย ๆ เข้าก็ทำให้เขาพลอยมีจิตใจต่ำไปด้วย ตรงกันข้ามถ้ามีโอกาสได้ฟังดนตรีที่ช่วยยกระดับจิตใจ ก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนที่มีจิตใจสูง ดังนั้น เปลโตและอริสโตเติล จึงมีความคิดเห็นตรงกันในข้อที่ว่าหลักสูตรการศึกษาควรประกอบด้วยวิชากีฬาและดนตรีที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการฝึกทั้งร่างกายและจิตใจ เปลโต สอนว่า “การเรียนดนตรีอย่างเดียวทำให้อ่อนแอและเป็นคนมีปัญหา การเรียนกีฬาอย่างเดียวทำให้เป็นคนที่อารมณ์ก้าวร้าวและไม่ฉลาด” ยิ่งกว่านั้นเปลโตยังได้กำหนดไว้ว่า “ดนตรีที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาไม่ควรมีลีลาที่ทำให้อารมณ์อ่อนไหว ควรใช้ทำนองที่มีลีลาดอเรียน(Dorian)และฟรีเจียน (Phrygian)”บันไดเสียงทั้งสองข้างต้นทำให้เกิดอารมณ์กล้าหาญและสุภาพเรียบร้อย เปลโตยังเคยกล่าวไว้ว่า “จะให้ใครเป็นผู้เขียนกฎหมายก็แล้วแต่ ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นผู้แต่งเพลงประจำชาติก็แล้วกัน”

2.ด้านการแพทย์

ใช้เสียงดนตรีกระตุ้นทารกในครรภ์มารดา ผลปรากฏว่าเด็กมีปฏิกิริยาตอบรับกับเสียงเพลง ทั้งทางพฤติกรรมและร่างกายที่ดี เสียงเพลงที่นุ่มนวลจะทำให้เด็กมีอาการสงบเงียบ ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นและยังช่วยให้ระบบหายใจและระบบย่อยอาหารดีขึ้น
การนำเสียงดนตรีมาบำบัดรักษาผู้ป่วยปัญญาอ่อน โดยเฉพาะการใช้ดนตรีลดหรือบรรเทาความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยใน 48 ชั่วโมงแรก ผลปรากฏว่าช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายภาวะทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ดังที่ผู้ใช้นามปากกาว่า คุณทองจีน บ้านแจ้ง เขียนไว้ในเรื่อง แกะสะเก็ดคลาสสิค ในหนังสือ ชาวกรุง ฉบับที่ 5 พ.ศ.2522 ว่า“หมอชาวกรีกโบราณท่านหนึ่งชื่อว่า แอสคลีปีอุส(Asclepius)ได้ใช้ดนตรีบรรเลงให้ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดแล้วฟัง ปรากฏว่าช่วยทุเลาอาการเจ็บปวดได้ดี”


3. ด้านสังคม

มีการใช้จังหวะดนตรีมากำหนดควบคุมการทำงาน เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียง เช่นการพายเรือ จังหวะยก-ส่งของ เป็นต้น การใช้ดนตรีปลุกเร้าอารมณ์ให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เช่นเพลงปลุกใจ เพลงเชียร์ เป็นต้น
ใช้เสียงดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ให้ดูศักสิทธิ์ เคร่งขรึม น่าเชื่อถือ หรือสื่ออารมณ์ความรู้สึกที่ร่าเริง เบิกบาน สนุกสนาน ในงานเลี้ยงสังสรรค์ งานฉลองต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างงาน อาชีพ ให้กับบุคคลในสังคมอย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น นักดนตรี นักร้อง ครูสอนดนตรี นักประพันธ์เพลง นักผลิตรายการคอนเสิร์ต นักดนตรีบำบัด ผู้อำนวยการเพลงหรือวาทยากรนักเขียนทางดนตรี นักประดิษฐ์เครื่องดนตรี และผู้ซ่อมหรือปรับเสียงเครื่องดนตรี เป็นต้น


4. ด้านจิตวิทยา

ใช้เสียงดนตรีปรับเปลี่ยนนิสัยก้าวร้าวของมนุษย์ รักษาโรคสมาธิสั้น โดยเฉพาะเด็กจะทำให้มีสมาธิยาวขึ้น อ่อนโยนขึ้น โดยใช้หลักทฤษฎีอีธอส (Ethos) ของดนตรี ซึ่งเชื่อว่าดนตรีมีอำนาจในการที่จะเปลี่ยนนิสัยของ มนุษย์ จนกระทั่งในบางกรณีสามารถรักษาโรคให้หายได้ ปัจจุบัน มีนักดนตรีบำบัดผู้ซึ่งมีความสามารถฟื้นฟูและบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำงานในด้านนี้

5. ด้านกีฬา

ใช้ดนตรีประกอบกิจกรรมกีฬา เช่น ยิมนาสติกกิจกรรมเข้าจังหวะ การเต้นแอโรบิค เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่างๆมากมาย ที่ใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจกล่าวได้ว่าดนตรีเป็นส่วนประกอบที่ขาดเสียมิได้ในกิจกรรมของสังคมมนุษย์

หัวใจ
myspace codes
Click here for Myspace glitter graphics and Myspace layouts